Kyoto Styudy

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อที่ญี่ปุุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติในเกียวโต

STUDY KYOTO MAGAZINE

เปิดวงสนทนาผู้สำเร็จการศึกษา: ชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษานานาชาติที่เกียวโต (ครึ่งหลัง)

เปิดวงสนทนาผู้สำเร็จการศึกษา: ชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษานานาชาติที่เกียวโต (ครึ่งหลัง)

เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 Study Kyoto ได้เชิญสมาชิกทีม PR นักศึกษานานาชาติ 4 คน ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในปีนี้ มาเปิดวงสนทนาย้อนรำลึกถึงชีวิตมหาวิทยาลัยในเกียวโตตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ ได้แก่ คุณแคทรีนา (นักศึกษามหาวิทยาลัยโดชิชะ จากสหรัฐอเมริกา) คุณเจิ้ง (นักศึกษามหาวิทยาลัยโดชิชะ จากประเทศจีน) คุณเวิน (นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต จากประเทศจีน) และคุณหวัง (นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต จากประเทศจีน) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ชีวิตมหาวิทยลัยปีสุดท้ายของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นนัก ในครั้งนี้ ทั้ง 4 คนได้พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเกียวโต รวมถึงความตั้งใจของพวกเขาต่อจากนี้ด้วยครับ

บทความในครึ่งหลังนี้ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับประสบการณ์ในช่วงปีสุดท้ายของทั้ง 4 คน ที่ได้เรียนรู้จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 รวมถึงเป้าหมายในอนาคตและความรู้สึกต่าง ๆ

เรื่องราวปีสุดท้ายของชีวิตมหาวิทยาลัย

ถาม) ในช่วงปีสุดท้ายนี้คิดว่าการมาเยือนของ COVID-19 น่าจะทำให้แต่ละคนมีประสบการณ์ชีวิตมหาวิทยาลัยแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน อยากให้เล่าย้อนถึงประสบการณ์ในปีสุดท้ายนี้ให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ

คุณแคทรีนา: ตลอด 3 ปีก่อนขึ้นปี 4 ฉันทำสะสมมาค่อนข้างเยอะค่ะ หน่วยกิตก็ลงมาพอแล้ว ตำแหน่งในชมรมก็ส่งต่อให้รุ่นน้องแล้ว เลยวางแผนไว้ว่าช่วงปี 4 จะไปเที่ยวต่างประเทศค่ะ แต่พอมีการแพร่ระบาดของ COVID-19 แผนดังกล่าวก็เป็นอันต้องล้มเลิกไปอย่างน่าเสียดาย

ฉันเลยใช้ช่วงเวลาที่ไม่สามารถไปเที่ยวได้นี้อ่านหนังสือที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงานและเริ่มเตรียมตัวจบการศึกษา และถึงแม้ว่าหน่วยกิตที่มีจะมากพอที่จะจบได้แล้ว แต่ฉันก็ยังไปลงเรียนวิชาที่สนใจเพื่อเพิ่มความรู้ให้แน่นมากขึ้นค่ะ

นอกจากนี้ COVID-19 ทำให้งานพาร์ทไทม์หดหายไปหลายงาน แต่ฉันก็ได้เจองานใหม่ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์แบบนี้นะคะ ในขณะที่โอกาสในการพบเจอกับผู้คนจริง ๆ น้อยลง แต่ก็มีความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นจากการพบเจอกันในรูปแบบอื่นที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ฉันคิดอะไรได้หลายอย่างเลยค่ะ

ถึงแม้ว่าต่อจากนี้ก็คงจะรู้สึกเสียดายไปตลอดที่ไม่สามารถไปเที่ยวต่างประเทศได้ แต่ฉันก็รู้สึกว่าในสถานการณ์แบบนี้ได้ทำสิ่งที่ทำได้อย่างเต็มที่แล้ว และสักวันหนึ่งก็อยากจะไปเที่ยวตามแผนที่เคยวางไว้ให้ได้ค่ะ

คุณเจิ้ง: อย่างที่ผมได้บอกไปเมื่อสักครู่ว่า วิชาคำนวณสำคัญมาก ๆ ในการเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ตอนที่ผมเริ่มเข้ามาเรียนที่นี่ผมอ่อนเลขมาก เลยทำให้ตอนปี 1 เกรดวิชาที่เกี่ยวกับการคำนวณตกหมดเลยครับ ถึงแม้ว่าจะพอสำหรับจบการศึกษา แต่ก็ผ่านแบบเฉียดฉิวมาก ๆ แต่พอเข้าช่วงการระบาดของ COVID-19 ข้อสอบในเทอมแรกก็กลายเป็นรายงานหมดเลย ทำให้ผมเกรดไม่ตกเป็นครั้งแรกครับ (หัวเราะ)

นอกจากนี้ ในช่วงเทอมสองของปี 3 ผมเริ่มสมัครงานครับ ตอนแรกก็คิดว่าจะสมัครงานที่ญี่ปุ่นนี่แหละครับ แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้การสัมมนาแนะนำงานและการสัมภาษณ์ต่าง ๆ กลายมาเป็นระบบออนไลน์ผ่าน Zoom กันหมด ผมสามารถสัมภาษณ์งานกับบริษัทที่จีนได้โดยที่ไม่ต้องเดินทางไปจีนครับ ผมได้สัมภาษณ์ทั้งบริษัทจีนและญี่ปุ่นหลายแห่ง ผมสามารถเลือกบริษัทเองได้ และยังประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปได้อีกด้วย ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องดีมาก ๆ เลยนะครับ

 

ถาม) เส้นทางของแต่ละคนต่อจากนี้ก็แตกต่างกัน ผมขอเริ่มถามคุณหวังและคุณเวินที่ตัดสินใจเรียนต่อระดับปริญญาโทก่อน ช่วยแนะนำการเตรียมตัวสอบเข้าเรียนต่อปริญญาโทให้เราฟังหน่อยได้มั้ยครับ

คุณหวัง: การรวบรวมข้อมูลเป็นเรื่องพื้นฐานและเป็นเรื่องสำคัญที่สุดนะคะ เริ่มจากไปเข้าฟังบรรยายแนะนำมหาวิทยาลัยที่สนใจ รวบรวมข้อมูลที่อัพเดทล่าสุด แล้วดูว่าต่างกับข้อมูลที่ตัวเองเคยรวบรวมมาก่อนหน้านี้แล้วหรือไม่ เป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ค่ะ หลังจากนั้น ก็ดูเนื้อหาของการสอบเข้า แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีเนื้อหาการสอบหรือเอกสารที่ต้องส่งแตกต่างกัน ก็ต้องเช็คว่ามหาวิทยาลัยที่อยากเข้านั้นมีการสอบสัมภาษณ์หรือไม่ ต้องส่งพอร์ทฟอริโอ หรือมีการสอบข้อเขียนด้วยหรือไม่

จากนั้นก็วางแผนการสอบเข้าค่ะ อย่างในกรณีของฉันที่ต้องการสอบเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะ พอร์ทฟอริโอก็จะสำคัญมากกว่าการเขียนความต้องการเข้าศึกษาต่อในใบสมัคร ฉันเลยทุ่มให้กับการเตรียมผลงานสะสมมากกว่า จากนั้นก็มาเตรียมการสอบสัมภาษณ์ ซึ่งก็จำเป็นต้องฝึกซ้อมเพื่อให้ตอบคำถามได้โดยไม่ประหม่าเวลาสัมภาษณ์จริงค่ะ

คุณเวิน: ผมเห็นด้วยกับคำแนะนำของคุณหวังมากเลยครับ นอกจากนั้น ผมคิดว่าในสถานการณ์ COVID-19 แบบนี้ เรื่องไม่คาดคิดสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา การเริ่มเตรียมตัวแต่เนิ่น ๆ เป็นเรื่องสำคัญมากครับ

 

ถาม) แล้วคุณเจิ้งและคุณแคทรีนาที่สมัครเข้าทำงานหลังจากเรียนจบล่ะครับ จากประสบการณ์การหางานแบบญี่ปุ่นของทั้งสองคน มีคำแนะนำยังไงบ้างครับ

คุณเจิ้ง: สำหรับคนที่ต้องการสมัครงานกับบริษัทต่างชาติหรือบริษัทขนาดใหญ่ ผมคิดว่าควรเตรียมตัวล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปีครับ ใช้เวลาศึกษาเกี่ยวกับบริษัทและเตรียมตัวสำหรับ SPI (Synthetic Personality Inventory) ด้วยครับ การรวบรวมข้อมูลก็เป็นเรื่องที่จำเป็น รวมไปถึงการค้นหาสิ่งที่ตัวเองอยากทำให้เจอตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้นก็สำคัญมากครับ อาจจะลองไปฝึกงานหรือทำงานพาร์ทไทม์ดูก็ได้ครับ หาตัวเองให้เจอก่อนแล้วก็ใช้เวลาก่อนหน้านั้นสักประมาณ 1 ปีครึ่งเพื่อศึกษาค้นคว้ามุ่งไปทางนั้นครับ

คุณแคทรีนา: หากเป็นที่อเมริกาแล้วล่ะก็ ส่วนมากสายงานก็จะเป็นไปตามสายที่เรียนมานะคะ แต่การหางานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ที่ญี่ปุ่นนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเกี่ยวข้องโดยตรงกับสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัย ฉันเรียนคณะสายศิลป์มาก็จริง แต่ว่านอกจากสายงานเฉพาะด้านแล้ว ฉันยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับสายงานอื่น ๆ และบริษัทญี่ปุ่นต่าง ๆ ในขอบเขตที่กว้างมาก ถึงแม้ว่าตอนนี้ฉันจะได้งานที่ญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่ฉันคิดว่าหากฉันไม่ได้สมัครงานที่นี่แต่กลับไปสมัครงานที่อเมริกา ฉันก็ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจากประสบการณ์การหางานในญี่ปุ่นค่ะ

การสมัครงานที่ญี่ปุ่นมีสิ่งที่แตกต่างอย่างมากกับการสมัครงานในอเมริกานะคะ นั่นก็คือเรื่องระยะเวลาการฝึกงานค่ะ ที่ญี่ปุ่นช่วงระยะเวลาการฝึกงานสั้นมาก ทำให้สามารถทดลองประสบการณ์ได้หลายอย่าง การฝึกงานของฉันที่ผ่านมานั้น ยาวที่สุดก็ 2 สัปดาห์ ส่วนที่สั้น ๆ ก็แค่ครึ่งวันเองค่ะ ถ้าเป็นที่อเมริกาก็จะใช้เวลานานกว่านี้มาก โดยปกติฝึกได้แค่ 1 หรือ 2 บริษัท ก็เต็มที่แล้วค่ะ ส่วนที่ญี่ปุ่น ฉันได้ไปฝึกงานมามากกว่า 10 บริษัท ทำให้ได้เห็นกิจการต่าง ๆ และมีทางเลือกในการสมัครงานเพิ่มมากขึ้นค่ะ

การสมัครงานนั้นถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากลำบากสำหรับนักศึกษาญี่ปุ่นใช่มั้ยคะ และบางคนอาจจะคิดว่านักศึกษานานาชาติมีข้อได้เปรียบในการสมัครงาน แต่ฉันคิดว่าถ้าไม่นับสายงานด้านการท่องเที่ยวแล้ว ก็ไม่ได้มีข้อได้เปรียบอะไรเลยค่ะ ความพยายามเป็นสิ่งที่สำคัญนะคะ แต่ช่วงระยะเวลาการหางานนั้นค่อนข้างยาว ช่วงพักผ่อนก็ควรพัก การรักษาสมดุลนั้นก็เป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กันค่ะ

เป้าหมายในอนาคต

ถาม) ผมคิดว่าแต่ละคนน่าจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากชีวิตมหาวิทยาลัยเพื่อเป็นประโยชน์กับก้าวต่อไป แล้วต่อจากนี้แต่ละคนมีแผนการอนาคตอย่างไรกันบ้างครับ

คุณเวิน: ผมอยากทำภาพยนตร์นะครับ เส้นทางยังค่อนข้างอีกยาวไกลและอาจจะยังไม่ชัดเจนนัก แต่คิดว่าภายใน 2 ปีนี้อยากจะทำหนังยาว และถ้าเป็นไปได้ก็อยากลองเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ดูนะครับ

คุณเจิ้ง: ถึงผมจะกลับไปทำงานที่ประเทศจีน แต่ว่าจริง ๆ แล้วตัวบริษัทเป็นบริษัทญี่ปุ่นนะครับ ผมก็คิดว่าอยากจะเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมที่สามารถใช้ประสบการณ์ 6 ปีในญี่ปุ่นของผมเพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจีนกับญี่ปุ่นอีกขั้นหนึ่งนะครับ

คุณแคทรีนา: ฉันก็อยากจะใช้สิ่งที่ได้เรียนรู้จากมหาวิทยาลัยให้เป็นประโยชน์กับสังคมค่ะ สิ่งที่ฉันอยากทำให้เกิดขึ้นเมื่อเข้าทำงานในบริษัทก็คือ การสร้างที่ทำงานที่ผู้คนจากต่างพื้นเพและวัฒนธรรมสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างราบรื่น เป็นที่ทำงานที่เฉิดฉายในระดับโลกค่ะ

คุณหวัง: ฉันคิดว่าอยากจะใช้ความรู้ที่จะได้เรียนในระดับปริญญาโทต่อจากนี้เพื่อสมัครงานในญี่ปุ่นต่อไปค่ะ

ถึงแม้ว่านอกจากเกียวโตแล้ว ตัวเลือกสถานที่เรียนต่อต่างประเทศนั้นมีอีกมากมายหลายแห่ง แต่ทั้ง 4 คนต่างก็บอกว่าดีใจที่ได้เลือกเกียวโต ไม่เพียงแค่เรื่องราวแห่งความสุข เรื่องราวที่ยากลำบากก็มีเช่นกัน แต่ผมคิดว่าประสบการณ์เหล่านี้ก็จะกลับมาเป็นประโยชน์ในอนาคตของแต่ละคนนะครับ ขอให้ทุกคนเก็บเรื่องราวและประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ชีวิตนักศึกษาที่เกียวโตเอาไว้ในความทรงจำ และพยายามเต็มที่กับก้าวต่อไปนะครับ

Study Kyoto รอทุกคนอยู่ที่เกียวโตเสมอนะครับ

บทความครึ่งแรก

บทความยอดนิยมPopular Articles

Categoryหมวดหมู่

Popular Articles บทความยอดนิยม

Categoryหมวดหมู่