Kyoto Styudy

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อที่ญี่ปุุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติในเกียวโต

STUDY KYOTO MAGAZINE

เปิดวงสนทนาผู้สำเร็จการศึกษา: ชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษานานาชาติที่เกียวโต (ครึ่งแรก)

เปิดวงสนทนาผู้สำเร็จการศึกษา: ชีวิตมหาวิทยาลัยของนักศึกษานานาชาติที่เกียวโต (ครึ่งแรก)

เมื่อวันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ 2021 Study Kyoto ได้เชิญสมาชิกทีม PR นักศึกษานานาชาติ 4 คน ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในปีนี้ มาเปิดวงสนทนาย้อนรำลึกถึงชีวิตมหาวิทยาลัยในเกียวโตตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา โดยผู้ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาในปีนี้ ได้แก่ คุณแคทรีนา (นักศึกษามหาวิทยาลัยโดชิชะ จากสหรัฐอเมริกา) คุณเจิ้ง (นักศึกษามหาวิทยาลัยโดชิชะ จากประเทศจีน) คุณเวิน (นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต จากประเทศจีน) และคุณหวัง (นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปะเกียวโต จากประเทศจีน) การแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ชีวิตมหาวิทยลัยปีสุดท้ายของพวกเขาไม่ได้ราบรื่นนัก ในครั้งนี้ ทั้ง 4 คนได้พูดคุยเรื่องราวต่าง ๆ เกี่ยวกับเกียวโต รวมถึงความตั้งใจของพวกเขาต่อจากนี้ด้วยครับ

บทความในครึ่งแรกนี้ เป็นเรื่องราวที่ทั้ง 4 คนย้อนรำลึกความทรงจำเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ตอนที่พวกเขาสอบเข้ามหาวิทยาลัย และเริ่มใช้ชีวิตในศึกษาในเกียวโต

เรื่องราว 4 ปีก่อน

ถาม) พอจะจำช่วงเวลานี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วกันได้มั้ยครับ น่าจะเป็นช่วงที่แต่ละคนพอจะทราบมหาวิทยาลัยที่จะเข้าศึกษาต่อกันแล้วใช่รึเปล่าครับ

คุณเจิ้ง: ผมสอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านในช่วงเดือนสิงหาคม 2016 ครับ หลังจากนั้นก็เรียนภาษาญี่ปุ่นที่โรงเรียนสอนภาษาเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าเรียนน้อยลงครับ ผมเลยใช้เวลาว่างหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเป็นคณะที่ผมจะเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยครับ

คุณหวัง: ช่วงนั้นฉันก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยผ่านเรียบร้อยแล้ว กำลังเตรียมตัวสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัยรวมถึงเตรียมย้ายที่อยู่ด้วยค่ะ โรงเรียนสอนภาษาที่ฉันเรียนก็อยู่ที่เกียวโตเหมือนกัน ก็เลยได้อยู่เกียวโตมาตลอดเลยตั้งแต่มาเรียนที่ญี่ปุ่นค่ะ

คุณแคทรีนา: ฉันรู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยช่วงเดือนตุลาคม 2016 ค่ะ หลังจากนั้นก็ใช้เวลาอ่านหนังสือชั้นมัธยมช่วงที่หยุดเรียนไปเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนเรื่องที่พักก็หาเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ที่เกียวโตช่วงเดือนตุลาคมเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นช่วงนี้เมื่อ 4 ปีก่อน เลยเป็นช่วงที่ได้ใช้ชีวิตมัธยมปลายทั่วไปในอเมริกาค่ะ

คุณเวิน: ผมก็รู้ผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยช่วงเดือนตุลาคม 2016 เหมือนกันครับ ช่วงนี้เมื่อ 4 ปีที่แล้วก็เป็นช่วงที่ผมยังไปโรงเรียนสอนภาษาที่โตเกียวอยู่ และเตรียมตัวย้ายมาที่เกียวโตไปพร้อม ๆ กันด้วยครับ

 

ถาม) สำหรับนักศึกษานานาชาติแล้ว เรื่องที่ลำบากที่สุดในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นคือเรื่องอะไรครับ

คุณเจิ้ง: ที่ค่อนข้างจำได้แม่นเลยก็คือการเขียนเหตุผลที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในใบสมัครครับ การสมัครเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัยที่จีนไม่ต้องเขียนเหตุผลเลยครับ ครูที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นช่วยเหลือผมอย่างมาก คอยตรวจแก้ใบสมัครให้ทุกครั้งที่ผมยื่นสอบเข้าแต่ละมหาวิทยาลัยเลย

คุณแคทรีนา: ฉันจำได้ว่าตอนนั้นค่อนข้างลำบากกับการส่งเอกสารทางไปรษณีย์มากค่ะ อย่างแรกเลยคือฉันต้องใช้บริการส่งเอกสารแบบแพงเพื่อให้มั่นใจว่าเอกสารใบสมัครของฉันจะส่งไปถึงแน่นอน เพราะถ้าหากส่งไม่ถึงก็เท่ากับว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะไปยืนตรงจุดเริ่มต้นของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ไม่มีทางเลือกจริง ๆ ค่ะ

แล้วพอหลังจากส่งเอกสารไปแล้ว ฉันก็กังวลว่าเอกสารที่ส่งจากอเมริกาจะถึงญี่ปุ่นมั้ย เลยไปติดต่อสอบถามบริษัทส่งเอกสาร แต่ว่ารหัสไปรษณีย์ของมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ในระบบไปรษณีย์ของอเมริกา ทำให้หาข้อมูลไม่เจอ ฉันเลยค่อนข้างกระวนกระวายเลยค่ะ* สำหรับการสมัครเข้าศึกษาต่อจากต่างประเทศ การส่งเอกสารเป็นเรื่องที่ลำบากเสียยิ่งกว่าการสอบอีกค่ะ

(* เนื่องจากบางมหาวิทยาลัยหรือบริษัทในญี่ปุ่นมีเลขไปรษณีย์เป็นของตัวเองโดยไม่เกี่ยวกับเขตที่ตั้งอยู่ เลขไปรษณีย์ดังกล่าวอาจไม่อยู่ในระบบไปรษณีย์ของต่างประเทศ ทำให้เวลาค้นหาก็จะไม่เจอที่อยู่นั้น)

คุณเวิน: สำหรับผมคิดว่าการสอบสัมภาษณ์ลำบากที่สุดครับ ที่โรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นก็มีการฝึกสอบสัมภาษณ์สำหรับสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีการเตรียมคำถามที่มักจะเจอบ่อย ๆ แต่ไม่รู้ยังไง ตอนที่ผมสอบสัมภาษณ์นั้น กว่าเก้าสิบเปอร์เซ็นต์เป็นคำถามที่คาดไม่ถึงเลยครับ เล่นเอาผมลำบากมากจริง ๆ โดยเฉพาะการสอบสัมภาษณ์ที่มีอาจารย์ผู้สัมภาษณ์สัก 6 คน แค่ก้าวเข้าห้องสัมภาษณ์ก็เกร็งจนสมองตันลืมคำตอบที่เตรียมมาหมด พอสัมภาษณ์เสร็จก็จิตตกไปเลยครับ แต่ก็เพราะประสบการณ์ครั้งนั้น ทำให้ผมไม่กลัวการสัมภาษณ์หลังจากนั้นเลย ถ้ามองในแง่ดีแล้วก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีนะครับ

คุณหวัง: ฉันตั้งใจว่าจะเข้ามหาวิทยาลัยศิลปะในเกียวโต จึงเริ่มจากการเรียนโรงเรียนสอนภาษาญี่ปุ่นที่นี่ การที่ฉันอยู่เกียวโตซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่ต้องการเข้าศึกษาต่ออยู่แล้ว ทำให้หาข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าศึกษาต่อได้ง่าย การสมัครและการสอบต่าง ๆ ก็ราบรื่นดีค่ะ ตอนนั้นฉันไปโรงเรียนสอนพิเศษเพื่อเตรียมตัวสอบเข้ามหาวิทยาลัยด้านศิลปะควบคู่ไปกับการเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วย ซึ่งโรงเรียนนี้ก็อยู่ในเกียวโตเหมือนกัน อีกทั้งยังให้ข้อมูลและสอนเทคนิคการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ฉันต้องการสอบเข้าอย่างละเอียดด้วย เลยคิดว่าการเริ่มต้นเรียนใกล้ ๆ กับมหาวิทยาลัยที่อยากเข้าศึกษาต่อค่อนข้างเป็นประโยชน์มากค่ะ สำหรับการสอบ AO ของมหาวิทยาลัยด้านศิลปะ ข้อสอบจะเน้นไปที่ทักษะ ซึ่งฉันเรียนด้านศิลปะตั้งแต่มัธยมปลายที่จีนแล้ว เลยไม่มีปัญหาอะไรค่ะ

ชีวิตมหาวิทยาลัยในเกียวโต

ถาม) พอจะจำช่วงเวลาหลังจากที่ทุกคนสอบผ่านและย้ายมาที่เกียวโตเพื่อที่เริ่มต้นใช้ชีวิตที่นี่ 4 ปีกันได้มั้ยครับ

คุณเวิน: ช่วงเริ่มต้นชีวิตในเกียวโตนี้ผมมีความทรงจำที่ออกจะขมขื่นหน่อยครับ คือตอนนั้นผมเลือกที่พักโดยไม่ได้ไปดูที่จริงเลย พอย้ายเข้าไปอยู่จริงแล้วก็ตกใจว่ารอบ ๆ ที่พักไม่มีอะไรเลยครับ เห็นว่าห่างจากสถานีรถไฟแค่ 2 นาที ก็น่าจะสะดวกดี แต่จริง ๆ แล้วดันเป็นสถานีในหุบเขา ร้านสะดวกซื้อที่ใกล้ที่สุดก็ต้องเดินไปไกลกว่า 10 นาทีเลยครับ

แล้วช่วงที่ผมย้ายมาอยู่ก็คือเดือนมีนาคม ซึ่งอากาศยังหนาวอยู่ใช่มั้ยครับ พอตกกลางคืนผมก็เปิดเครื่องปรับอากาศให้ห้องนั่นเล่นอุ่น แต่อีกห้องไม่มีเครื่องปรับอากาศเลยทำให้ห้องนั่งเล่นไม่อุ่นขึ้นเลย หนาวก็หนาวนะครับ ไม่รู้จะทำยังไง ผมเลยใช้เตาแก๊สปิคนิคมาต้มน้ำให้ได้ความอุ่นจากไฟเตาแก๊สครับ ตอนเล่านี้ก็ขำ ๆ นะครับ เป็นความทรงจำที่ออกจะเขิน ๆ หน่อย (หัวเราะ)

คุณแคทรีนา: ตอนเปิดเบอร์โทรศัพท์มือถือ ตอนนั้นฉันยังไม่บรรลุนิติภาวะเลยทำสัญญาลำบากมากค่ะ พนักงานขายก็บอกว่าเปิดเบอร์โทรศัพท์ให้ไม่ได้ แต่มือถือจำเป็นกับการใช้ชีวิตประจำวันมาก ๆ นะคะ ฉันเลยถามกับทางร้านว่าฉันควรต้องทำยังไง ซึ่งทางร้านก็ช่วยหาวิธีให้ค่ะ ท้ายที่สุดก็กลายเป็นว่าฉันต้องทำสัญญาเปิดเบอร์มือถือกับร้านนั้น แต่เครื่องโทรศัพท์ต้องไปซื้อร้านอื่น มีเอกสารมากมายก่ายกอง ใช้เวลาทั้งหมดทั้งสิ้น 3 วันค่ะกว่าจะได้ใช้

 

ถาม) พอเทียบกับตอนนั้นแล้ว พอได้อยู่มาความรู้สึกต่อเมืองนี้เปลี่ยนไปมั้ยครับ แต่ละคนมองเกียวโตเป็นอย่างไรกันบ้างครับ

คุณหวัง: ตอนที่ฉันตัดสินใจเลือกที่เรียนต่อต่างประเทศ ฉันอยากเรียนศิลปะโบราณค่ะ เลยเลือกเกียวโตเพราะมีภาพจำว่าเป็นเมืองที่ให้ภาพแทนวัฒนธรรมญี่ปุ่น เต็มไปด้วยศิลปะและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยจำนวนมาก และฉันก็เคยได้ยินด้วยว่าเกียวโตถูกเรียกว่า “เมืองแห่งนักศึกษา” และด้วยความที่เมืองนี้เต็มไปด้วยประเพณีและประวัติศาสตร์ คนที่มาเกียวโตครั้งแรกก็สามารถสัมผัสประสบการณ์ทางศิลปะวัฒนธรรมโบราณได้อย่างง่าย ๆ นี่เป็นความรู้สึกของฉันที่ไม่เคยเปลี่ยนไปเลยตลอดระยะเวลาที่อยู่เกียวโตมา 5 ปีค่ะ

คุณเจิ้ง: ก่อนมาที่เกียวโตผมพักอยู่ใกล้ ๆ ชิบุย่าซึ่งถือเป็นใจกลางโตเกียวเลยก็ว่าได้ การเดินทางในชีวิตประจำวันก็จะใช้รถไฟนะครับ แต่ที่เกียวโตนี้ที่ที่อยากไปก็มักจะไม่มีรถไฟ ทำให้ได้เริ่มนั่งรถประจำทางเป็นครั้งแรกตั้งแต่มาญี่ปุ่นครับ แรก ๆ ก็ไม่ค่อยชิน นั่งไปผิดทิศผิดทางติด ๆ กัน 3 ครั้งรวดเลยครับ (หัวเราะ)

ตอนนั้นการขึ้นรถประจำทางค่อนข้างลำบากมากสำหรับผม แต่ตอนนี้ผมชินแล้วนะครับ ถ้าเดินทางในเมืองส่วนมากก็ไม่ต้องขึ้นรถประจำทาง ขอแค่มีจักรยานผมคิดว่าไปที่ไหนก็ได้นะครับ พอเทียบกับโตเกียวแล้ว การใช้ชีวิตที่ไม่ต้องนั่งรถไฟหรือรถประจำทางนี่สบายเหมือนกันนะครับ

 

ถาม) อุปสรรคแรก ๆ ที่เจอตอนเริ่มต้นใช้ชีวิตมหาวิทยาลัยคืออะไรครับ

คุณเวิน: ผมรู้สึกว่าการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นค่อนข้างยากครับ ไม่ใช่แค่ในชีวิตประจำวัน แต่ยังรวมไปถึงการสื่อสารในการเรียนด้วย ผมเรียนเกี่ยวกับการถ่ายทำภาพยนตร์ครับ ตอนเข้าเรียนแรก ๆ ผมไม่รู้พวกศัพท์เทคนิคที่เกี่ยวกับภาพยนตร์เลย เช่น คำว่า “การถ่ายระยะไกล” หรือ “การถ่ายระยะยาว” ตอนปี 1 มีการบ้านถ่ายภาพยนตร์สั้น ตอนนั้นเพื่อนก็น้อย คนที่ทำงานกลุ่มเดียวกันก็ไม่ได้สนิทกันมากนัก การสื่อสารความคิดของตัวเองให้ตากล้องเข้าใจนั้นค่อนข้างลำบากมากทีเดียว ถ้าอธิบายด้วยคำพูดไม่ได้ ก็ต้องพยายามทำให้เขาเข้าใจด้วยวิธีอื่น เช่น วาดรูปอธิบายครับ

ตอนนั้นผมคิดว่า ถ้าไม่สามารถสื่อสารได้ ก็จะไม่สามารถถ่ายทำภาพยนตร์ออกมาได้ ปัญหาจึงไม่ใช่แค่เทคนิคหรือความรู้เกี่ยวกับการถ่ายภาพยนตร์ แต่เป็นเรื่องของการสื่อสารด้วยที่ผมต้องพยายามพัฒนาตัวเองครับ

คุณเจิ้ง: ผมก็เจออุปสรรคในการเรียนเหมือนกันครับ ผมเข้าเรียนคณะเศรษฐศาสตร์ แต่ว่าตอนชั้นมัธยมผมเรียนมาทางสายศิลป์มาก ๆ พวกวิชาคำนวณไม่ค่อยได้เรียนเลยครับ ยิ่งไปกว่านั้น เนื้อหาวิชาคำนวณที่โรงเรียนมัธยมในจีนกับญี่ปุ่นก็ต่างกันนิดหน่อยด้วย เข้าใจว่าที่ญี่ปุ่นเรียน Infinitesimal calculus กันตั้งแต่มัธยมปลาย แต่ที่จีนจะเรียนกันในมหาวิทยาลัยครับ ตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนมหาวิทยาลัยวันแรก ๆ อาจารย์ที่คณะเศรษฐศาสตร์ก็จะสอนต่อเนื่องจากความรู้พื้นฐานที่ “คนที่จบจากโรงเรียนมัธยมญี่ปุ่นรู้กันอยู่แล้ว” ทำให้ผมเรียนตามไม่ทัน ค่อนข้างลำบากมากครับในช่วงแรก

 

ถาม) เรื่องที่รู้สึกดีใจที่สุดหรือได้พยายามที่สุดในชีวิตมหาวิทยาลัยคือเรื่องอะไรครับ

คุณหวัง: ในวิชาการออกแบบข้อมูล ฉันได้มีโอกาสทำงานกลุ่มกับเพื่อนร่วมชั้นเพื่อออกแบบแอพพลิเคชั่นใหม่ ซึ่งตอนนั้นฉันอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ เลยรับหน้าที่เป็นโปรดิวเซอร์กับตากล้องค่ะ ตลอดช่วง 3 เดือน ฉันได้ถ่ายภาพยนตร์หลายครั้ง มีถ่ายทำในโลเคชั่นต่าง ๆ ด้วย เลยได้มีโอกาสทดลองการเตรียมถ่ายทำทั้งหมด ตั้งแต่การเลือกสถานที่ และการจัดเครื่องแต่งตัวต่าง ๆ นอกจากนี้ฉันยังเป็นตัวตั้งตัวตีในการออกแบบ UI การตัดต่อภาพยนตร์ และการทำโปสเตอร์โฆษณาอีกด้วยค่ะ ตอนที่ผลงานเสร็จออกมาเรียบร้อยแล้วนั้น ก็รู้สึกถึงความสำเร็จเป็นอย่างมากค่ะ

คุณแคทรีนา: ฉันคิดว่าชีวิตมหาวิทยาลัยของฉันได้ลองประสบการณ์เยอะมากค่ะ เป็นประสบการณ์ที่หาได้เฉพาะช่วงเวลาที่ยังเป็นนักศึกษาอยู่เท่านั้น ฉันคิดตลอดว่าฉันจะใช้ช่วงเวลา 4 ปีนี้ให้คุ้มค่าที่สุด ทั้งลงเรียนหลาย ๆ วิชา และเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัยอย่างเต็มที่ ห้องสมุดเอย โรงยิมเอย ฉันใช้บริการเต็มที่เลยค่ะ ทั้งยังเข้าชมรมต่าง ๆ มากมาย ทำให้มีเพื่อนเยอะเลย

นอกจากนี้ ก็ร่วมกิจกรรมอาสาสมัครของมหาวิทยาลัย และตอนปิดเทอมใหญ่ที่พอจะมีเวลาว่างก็ไปทำงานพาร์ทไทม์ในรีสอร์ทที่จังหวัดอื่นด้วยค่ะ กิจกรรมนอกมหาวิทยาลัยทำให้เราได้เรียนรู้เกี่ยวกับสังคมญี่ปุ่นลึกขึ้น เป็นประสบการณ์ที่ดีมากเลย ประเด็นที่ร่วมพูดคุยกับคนญี่ปุ่นได้ก็กว้างมากขึ้น เป็นประสบการณ์ที่คิดว่าจะเอาไปใช้ในการทำงานในญี่ปุ่นต่อไปค่ะ ฉันทำแบบนี้เรื่อยมาจนกระทั่งเริ่มมีการระบาดของ COVID-19 เลย นับว่าเป็นการสะสมประสบการณ์ที่อัดแน่นมากทีเดียว พอได้มามองย้อนกลับไปแล้วก็คิดว่าใช้เวลาได้อย่างคุ้มค่ามาก ๆ เลยค่ะ

บทความครึ่งหลัง

บทความยอดนิยมPopular Articles

Categoryหมวดหมู่

Popular Articles บทความยอดนิยม

Categoryหมวดหมู่