Kyoto Styudy

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อที่ญี่ปุุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติในเกียวโต

STUDY KYOTO MAGAZINE

การเรียน MBA ภาคภาษาอังกฤษในเกียวโต: ภาคเริ่มกิจการ

การเรียน MBA ภาคภาษาอังกฤษในเกียวโต: ภาคเริ่มกิจการ

หลายคนอาจรู้สึกแปลกใจหากได้ยินว่าเกียวโตซึ่งเป็นเมืองแห่งนักศึกษา เมืองที่มีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเก่าแก่แห่งนี้สนับสนุนผู้ประกอบการและธุรกิจสตาร์ทอัพอยู่หลายกิจการเลยทีเดียว และอาจพูดได้เลยว่าเกียวโตนั้นเป็นที่ซึ่งเหมาะเจาะเป็นอย่างยิ่งกับการเรียน MBA เพื่อนำมาส่งเสริมอาชีพของหลาย ๆ คนนะครับ
ในบทความก่อนหน้านี้ “ภาคมหาวิทยาลัย” เราได้แนะนำข้อมูลเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยในเกียวโตที่มีหลักสูตร MBA พร้อมทั้งบอกเล่าประสบการณ์ของคุณ Nam ที่สำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร MBA ด้วย และใน “ภาคเริ่มกิจการ” นี้ เราจะมาพูดคุยกันถึงจุดหักเลี้ยวที่ทำให้คุณ Nam มาย้ายมาอยู่ที่เกียวโต รวมถึงประสบการณ์การประกอบกิจการในเกียวโตของคุณ Nam กันด้วยนะครับ

มาญี่ปุ่น และมาเกียวโต

แรงบันดาลใจของแต่ละคนที่มาญี่ปุ่นนั้นแตกต่างกันออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เลือกมาเมืองหลวงเก่าอย่างเกียวโต สำหรับคุณ Nam แล้ว แรงบันดาลใจที่ทำให้เขาตัดสินใจเรียนหลักสูตร MBA ที่เกียวโตในท้ายที่สุดนั้น ประกอบขึ้นจากหลาย ๆ ปัจจัยด้วยกันครับ

ถาม: อะไรที่ทำให้คุณ Nam เลือกมาที่ญี่ปุ่น โดยเฉพาะที่เกียวโตนี้ครับ

ตอบ: “สมัยมหาวิทยาลัยผมเรียนเกี่ยวกับธุรกิจระหว่างประเทศครับ ตอนนั้นมีโครงการชื่อ “Pacific Rim Study Tour” (โครงการทัศนศึกษาในภูมิภาคแปซิฟิก) เป็นโครงการที่นักศึกษาเดินทางร่วมกับอาจารย์เพื่อไปสัมภาษณ์ธุรกิจขอองออสเตรเลียที่ดำเนินกิจการอยู่ในประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย และญี่ปุ่นก็เป็นประเทศสุดท้ายในโครงการดังกล่าว ทำให้สมาชิกที่ร่วมโครงการส่วนใหญ่ได้ใช้เวลาในญี่ปุ่นต่ออีกเล็กน้อยหลังจากเสร็จสิ้นโครงการแล้ว ตั้งแต่นั้นผมก็คิดว่าอยากจะกลับมาญี่ปุ่นอีกในอนาคต จนกระทั่งหลายปีต่อมาในขณะที่ผมกำลังท่องเที่ยวรอบเอเชียอยู่นั้น ผมได้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ Working Holiday โดยมีเพื่อนแนะนำงานสอนหนังสือที่จังหวัดฟุคุอิ เมืองฟุคุอิให้ครับ จากนั้นผมก็อยู่ที่ฟุคุอิยาวมากว่า 5 ปีเลยทีเดียว”

“ที่ฟุคุอิผมได้เจอกับภรรยาและแต่งงานกัน ผมเริ่มทำงานที่มหาวิทยาลัย Fukui University of Technology และเริ่มผลิตวิดีโอตั้งแต่ช่วงนั้นครับ ตอนแรกก็ทำเป็นงานอดิเรก ทำวิดีโอแนะนำชีวิตที่ญี่ปุ่นให้เพื่อน ๆ ที่ออสเตรเลียดู โดยเฉพาะฟุคุอิเนี่ย ไม่เคยมีเพื่อนคนไหนได้ไปมาก่อนหรอกครับ” (หัวเราะ)

“พอมีคนดูวิดีโอของผมมากเข้า เพื่อน ๆ ชาวต่างชาติของผมที่ฟุคุอิก็อยากจะเอาให้ครอบครัวของพวกเขาดูบ้าง ผมเลยค่อย ๆ ขยับมาทำแต่วิดีโอเพียงอย่างเดียวในที่สุดครับ”

เมื่อมาที่ญี่ปุ่น คุณ Nam ได้ขยายความสนใจของเขาจากภาพถ่ายไปสู่การผลิตวิดีโอ “ในตอนแรก มีคนมาบอกผมว่า โรงงานผลิตมีดอยากให้นายมาทำวิดีโอให้เว็บไซต์ของเขาหน่อยน่ะ ตอนนั้นผมก็ไม่รู้เหมือนกันครับว่าเกิดอะไรขึ้น” เครือข่ายชาวต่างชาติในฟุคุอิได้ช่วยสร้างคอนเนคชั่นให้คุณ Nam กับผู้คนที่สนใจการผลิตวิดีโอ คุณ Nam จึงคิดว่า “นี่น่าจะสามารถทำเป็นงานจริงจังได้” และตัดสินใจเดินทางมายังเกียวโต

หลังจากนั้นคุณ Nam จึงได้เริ่มใช้ชีวิตนักศึกษา MBA ที่เกียวโต ซึ่งเราได้นำเสนอไปในบทความส่วนแรก “ภาคมหาวิทยาลัย” และในระหว่างที่คุณ Nam กำลังเรียน MBA อยู่นี้เอง เขาได้ลองท้าทายสิ่งใหม่และได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก นั่นก็คือการร่วมมือกับเพื่อนร่วมชั้นอีก 2 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการประกวดหนังสั้นของ Study Kyoto นั่นเอง

ถาม: ช่วยเล่าเกี่ยวกับการประกวดหนังสั้นของ Study Kyoto ให้เราฟังหน่อยได้มั้ยครับ

ตอบ: “ผมจำได้ว่าตอนนั้นคนรอบตัวของผมต่างส่งลิงค์มาให้ผมครับ อาจารย์ก็ส่งมาให้ ตอนนั้นมีผม Kwena และ Edson ที่คิดว่าอยากจะเข้าร่วมการประกวด พวกเราเลยตัดสินใจว่า งั้นเรามาทำด้วยกันเถอะ ต่างคนต่างก็มีเรื่องที่ถนัดและไม่ถนัด พอทำเป็นทีมแล้วก็ไม่ค่อยน่ากลัวเท่าไหร่ด้วย และน่าจะสนุกกว่าด้วย” (หัวเราะ)

“พวกเราคิดว่า อยากทำวิดีโอที่แสดงถึงไฮไลต์ในชีวิตนักศึกษา เป็นชีวิตนักศึกษาตามสภาพความเป็นจริง เราไม่อยากนำเสนออะไรเหมือนนักท่องเที่ยว แม้ว่านักศึกษาเองก็ชอบที่จะไปตามที่ท่องเที่ยวเช่นกันก็ตาม แต่พวกเราอยากนำเสนอให้เห็นว่าโดยปกติแล้วนักศึกษานั้นใช้ชีวิตกันอย่างไร เป็นวิดีโอที่นำเสนอในสิ่งที่ทำให้นักศึกษาในอนาคตได้รู้สึกตั้งตารอคอย Kwena เขียนวารสารได้ยอดเยี่ยมมากครับ และ Edson ก็มีเสียงไพเราะมากเลยได้รับหน้าที่เป็นผู้บรรยาย”

 

ผู้ที่สนใจสามารถชมวิดีโอที่ได้รับรางวัลได้ที่นี่ครับ และยังสามารถรับชมได้จากโฮมเพจประกาศผลรางวัลการประกวดหนังสั้นของ Study Kyoto ปี 2018 ด้วยครับ

เริ่มต้นกิจการในเกียวโต

ถาม: ช่วยเล่าประสบการณ์การเริ่มต้นกิจการที่เกียวโตให้ฟังหน่อยได้มั้ยครับ

ตอบ: “ผมเริ่มตัดสินใจหลังจากเริ่มเรียน MBA ได้สักระยะหนึ่ง และการได้พบกับผู้คนต่าง ๆ ทำให้กิจการค่อย ๆ ใหญ่ขึ้นครับ”

“เพื่อนร่วมชั้นของผมหลายคนได้ไปฝึกงานหรือทำงานพาร์ทไทม์ในที่ต่าง ๆ และพวกเขาก็ได้พบกับผู้คนมากมายครับ ส่วนผมนั้นเป็นที่รู้จักกันดีในนาม เจ้าวิดีโอ พอเพื่อนร่วมชั้นของผมได้ยินว่าที่ทำงานของเขาต้องการวิดีโอขึ้นมาเมื่อไหร่ พวกเขาก็จะรีบบอกทันทีเลยว่า รู้จักคนทำวิดีโอฝีมือเยี่ยมนะ” หลังจากนั้นคุณ Nam เลยได้รับการแนะนำจากเพื่อนร่วมชั้นของเขาหลายต่อหลายคน มารู้ตัวอีกทีเขาก็ได้ออกไปถ่ายวิดีโอทีเมืองทังโกะทางตอนเหนือของเกียวโตเป็นเวลาหลายวันบ้าง หรือร่วมทำงานกับบริษัทที่ให้บริการจองคอร์สทดลองเป็นเกอิชาสำหรับนักท่องเที่ยวบ้าง นอกจากนั้น บริษัทที่ร่วมงานกับเขาในระหว่างเรียนยังได้จ้างคุณ Nam เป็นรายโปรเจกต์อีกด้วย เจ้าของบริษัท Bento&Co ซึ่งเป็นผู้ผลิตในเกียวโตได้บังเอิญไปเข้าฟังการนำเสนอผลงานขของคุณ Nam พอดี ถึงแม้ว่าคุณ Nam จะไม่ได้ชนะในครั้งนั้น แต่วิดีโอที่นำเสนอกลับเข้าตาเจ้าของบริษัท ทำให้เขาได้รับการว่าจ้างให้ผลิตวิดีโออีกหลายชิ้นเลยทีเดียว และนอกจากงานฟรีแลนซ์รับทำวิดีโอแล้ว คุณ Nam ยังได้ไปเข้าร่วมฝึกงานกับบริษัทดังกล่าวด้วย และด้วยประสบการณ์เหล่านี้เองทำให้คุณ Nam ได้รับการแนะนำไปยังสาขาอื่น ๆ จนได้มีโอกาสร่วมงานกับรายการโทรทัศน์ของฝรั่งเศสในโปรเจกต์แนะนำมหาวิทยาลัยเกียวโตอีกด้วย

“ผมมักจะเลือกทำสิ่งที่ผมอยากทำ และเป็นสิ่งที่จะนำไปสู่โอกาสข้างหน้า ผมไม่เคยคิดว่าจะทำงานในบริษัทใหญ่ ๆ เลยครับ ผมคิดว่าตัวเองเหมาะที่จะเลือกเดินเส้นทางอื่นมากกว่า ผมเพียงแค่ทำเต็มที่กับทุกโอกาสที่ผู้คนหยิบยื่นมาให้ครับ ทั้งคอนเนคชั่นหรือความสัมพันธ์กับผู้คนต่าง ๆ และการตั้งบริษัทผลิตวิดีทัศน์นั้น ต่างก็เป็นไปโดยปริยายครับ”

การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ทำให้คุณ Nam ซึ่งเดินทางกลับไปยังออสเตรเลียชั่วคราวต้องยืดระยะเวลากลับมายังญี่ปุ่นของเขาออกไป อย่างไรก็ตามคุณ Nam ได้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและปัจจุบันก็ทำงานจากที่เมลเบิร์น

“ผมอยากจะผลิตวิดีโอต่อไปเรื่อย ๆ เพิ่มความชำนาญ และพัฒนาวิธีการเล่าเรื่องให้ดีมากยิ่งขึ้นครับ ผมมีเครือข่ายกับทางญี่ปุ่นผ่านทางครอบครัวของภรรยา ถ้าหากว่ามีโอกาสที่จะได้ทำวิดีโอที่ญี่ปุ่นผมก็ยินดีเป็นอย่างยิ่ง แต่ตอนนี้ผมยังอยู่ที่นี่ (ออสเตรเลีย) และทำสิ่งที่จำเป็นต้องทำอยู่ครับ”

“การที่ผมได้ใช้เวลาที่โดชิชะรวมทั้งเครือข่ายที่เกิดขึ้น ทำให้ผมรู้สึกสะดวกใจมากที่จะกลับไปที่ญี่ปุ่นครับ”

บทความยอดนิยมPopular Articles

Categoryหมวดหมู่

Popular Articles บทความยอดนิยม

Categoryหมวดหมู่