Kyoto Styudy

สำหรับผู้ที่สนใจมาศึกษาต่อที่ญี่ปุุ่น สำหรับนักศึกษาต่างชาติในเกียวโต

STUDY KYOTO MAGAZINE

แชร์ประสบการณ์สอบทุนรัฐบาลญี่ปุ่น (Monbukagakusho: MEXT) ประเภทนักศึกษาวิจัย สายศิลป์

Tips ในการเขียน study plan

ที่ยากที่สุดน่าจะเป็นการเขียน study plan ซึ่งต้องแนบไปพร้อมกับใบสมัครเลย ขอบอกว่าขั้นตอนนี้ค่อนข้างใช้เวลา และถ้าเราสอบผ่านไปถึงรอบสัมภาษณ์ study plan จะมีผลมากในการตัดสินของคณะกรรมการ ดังนั้นควรเตรียมตัวไปดีๆค่ะ วันนี้มี tips ส่วนตัวในการเขียน study plan มาฝากค่ะ ก่อนสัมภาษณ์ได้ศึกษามาจาก blog ของพี่แมน Charlie มีข้อมูลเกี่ยวกับการสอบที่เป็นประโยชน์มากๆ ขออนุญาตแปะ credit ไว้เผื่อใครอยากลองศึกษาเพิ่มเติมนะคะ

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=charlieman&month=08-08-2013&group=1&gblog=13

Point 1) ตัดความรู้สึกว่า “ฉันไม่เก่ง” ทิ้งไป
เราเป็นคนนึงที่คิดแบบนี้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นเลยเข้าใจความรู้สึกของหลายๆคนค่ะ แต่ถ้าเราคิดแบบนี้แล้วตัดใจ โอกาสจะกลายเป็นศูนย์ในทันที เพราะฉะนั้นอยากให้ลองทดสอบดู

Point 2) หาจุดดีของตัวเอง นำมาขยายและเขียนให้เป็นรูปธรรม
ในหมู่คนธรรมดาทั่วไปทุกคนมีข้อดี ข้อด้อยที่แตกต่างกัน คนที่ธรรมดาๆอย่างเราเองก็น่าจะมีจุดแข็ง ที่คนอื่นไม่มีเหมือนกัน มันคืออะไร? ถ้าหาเจอได้ จะช่วยเราได้มากเลยค่ะ จากนั้นเอามันมาขยายและเขียนให้เป็นรูปธรรม เริ่มจากตั้งคำถามง่ายๆกับตัวเอง ว่า เราเป็นใคร มีพื้นฐานยังไง, เราสนใจอะไร, และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมว่าอะไร ถึงตรงนี้อย่าไปกลัวคำว่าไม่รู้, ไม่เก่ง ให้คิดว่า เพราะเราไม่รู้ และเราอยากเก่งในสาขานั้นๆ เราจึงอยากมาเรียน ตรงข้อนี้อาจจะยากสำหรับคนที่เริ่มต้นเพราะต้องคิดเยอะ แต่ถ้าใครมีแผนที่จะไปเรียนต่อไว้เป๊ะ หรือติดต่อหาอาจารย์ไว้อยู่แล้ว ชีวิตก็จะง่ายขึ้นเลยละค่ะ

Credit: Green Chameleon

Point 3) คิดต่อไปอีกนิดนึง
สมมุตว่าเราได้ไปเรียน เราจะนำเอาความรู้นั้นกลับมาทำอะไร ตอนคิดข้อนี้ เข้าใจว่าความยากน่าจะอยู่ที่ เรากำลังเขียนถึงสิ่งที่มองไม่เห็น และต้องเขียนให้อลังการขนาดไหน ชั้นจะไปรู้ได้ไง! สำหรับใครที่ยังไม่เห็นภาพ อาจจะเริ่มคิดจาก คนแบบที่เราอยากเป็นในอนาคต อะไรที่เราอยากทำในอนาคต ที่คิดว่าจะดีกับตัวเราเอง และถ้าสิ่งนั้นจะสามารถแบ่งบันสิ่งที่ดีให้สังคมได้บ้าง ก็จะดีมากเลยค่ะ

Point 4) กรรมการอ่านจบต้องจำฉันได้
ก่อนเขียนแอดได้ลองศึกษาวิธีการเขียน study plan ที่น่าสนใจ ส่วนใหญ่จากเว็บไซต์ทางฝรั่ง เพราะตอนนั้นอ่านภาษาญี่ปุ่นไม่ออก มีแนวทางที่น่าสนใจอันหนึ่งคือ “Study Plan” ที่ดีคือ ถ้ากรรมการอ่านจนจบ จะสามารถจำเราได้ ในฐานะของ ”คนที่….” จุดๆๆ คือ ”จุดแข็ง” ที่พูดไปในข้อ1นั่นเองค่ะ สำหรับแอดน่าจะเป็น ”คนที่วาดรูปก่อนหัดเขียน ก ไก่ เพราะพ่อซื้อดินสอโดราเอมอนให้ตอนเด็กๆ” 5555

สำคัญที่สุดทั้งหมดที่กล่าวมา คือ ต้องเขียนให้เป็นรูปธรรมค่ะ ถึงตอนนี้ เรากลับไปอ่าน study plan ที่เคยส่งไป พบว่าตัวเองค่อนข้างขาดข้อนี้ พอมาเรียนที่ญี่ปุ่น ถึงได้พบว่า การเขียน  study plan ของญี่ปุ่น ค่อนข้างมีหลักการที่เป๊ะอยู่เหมือนกัน เช่นควรจะมีการบอก background ประเด็นปัญหาที่อยากวิจัย รวมไปถึงสิ่งที่เราอยากทำ จุดประสงค์การวิจัย วิธีดำเนินงาน ผลที่คาดว่าจะได้รับ ให้ชัดเจน
ถ้าทำได้ก็จะช่วยให้ study plan ของเราเป็น study plan ที่ไม่เพียงแต่มีน้ำหนัก แต่ก็ยังมี story ที่น่าสนใจค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องค่อยๆเขียน ค่อยๆเกลาไปนะคะ

Credit: JESHOOTS

2. สอบข้อเขียน

ทุนนักศึกษาวิจัยจะแบ่งเป็นสามประเภท แต่ละประเภทจะมีวิชาที่ต้องสอบไม่เหมือนกัน ของเราเป็น R1A เลยสอบแค่ภาษาอังกฤษค่ะ

1. R1A : Social Sciences and Humanities : Laws, Politics, Pedagogy, Psychology, Sociology, Linguistics, Literature, History, Aesthetics, Music, Fine Arts, etc.
2. R1B : Social Sciences and Humanities : Economics, Commerce, Businesses Administration, etc.
3. R2 : Natural Sciences : Pure Science, Engineering, Agriculture, Fisheries, Pharmacy, Medicine, Dentistry, Home Economics, etc.

ข้อแนะนำในการสอบคือ ให้ดูข้อสอบเก่าค่ะ แนวทางค่อนข้างตรงเลย สามารถดูย้อนหลัง ได้ที่นี่

Study in Japan Qualifying Examinations for Applicants for MEXT Scholarships (English)

https://www.studyinjapan.go.jp/en/planning/scholarship/application/examination/index.html#1

Credit: Yustinus Tjiuwanda

3. ขั้นตอนสัมภาษณ์

สำหรับคนที่คะแนนผ่านเกณฑ์ก็จะได้เข้าสอบสัมภาษณ์ อัตราส่วนโดยประมาณน่าจะอยู่ที่ 4-5คน เลือก 1 คน กรรมการผู้สอบสัมภาษณ์ 4 ท่านโดยประมาณ

จัดสอบที่สถานทูต ระหว่างรอเจ้าหน้าที่น่ารักมาก เดินมาคุยให้กำลังใจ ทำให้ผ่อนคลายมากค่ะ

ก่อนสอบสัมภาษณ์ ควรเตรียมคำตอบไปล่วงหน้า อาจจะให้เพื่อนหรืออาจารย์ลองยิงคำถามรัวๆ จาก study plan แล้วเราหาคำตอบเตรียมไว้ การซ้อม จะทำให้มั่นใจมากขึ้นค่ะ

 

มีหลายคนถามว่า ต้องใส่สูทไปหรือไม่ คำแนะนำคือ ใส่ก็ดี ถ้าไม่ใส่ ก็ต้องแต่งตัวสุภาพค่ะ ของเราเป็นเชิ้ตขาว+กางเกงผ้าสีกรมท่า

Credit: Hunters Race

ก่อนเข้าห้องสัมภาษณ์ จะถูกให้ไปนั่งรอแยกที่ห้องเล็กๆ ในห้องจะมีกระดาษเขียนไว้ว่า พอเข้าไปในห้องสัมภาษณ์แล้ว ให้แนะนำตัว, เราเคยทำอะไรมา, พูดสิ่งที่อยากทำ, และทำไมถึงเลือกไปญี่ปุ่น (ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่แนะนำว่าควรมีอยู่ใน study plan)

 

มารยาทก่อนเข้าห้องของคนญี่ปุ่นคือการเคาะประตูก่อน พร้อมพูดว่า shitsureishimasu (Excuse Me ก็ได้) อันนี้เคยถามน้องๆหลายคนที่สัมภาษณ์เหมือนกัน บางคนพูดภาษาอังกฤษหมดเลย บางคนพูดทักทายเป็นภาษาญี่ปุ่น พร้อมโค้งคำนับ ต่อด้วยสัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษก็มี

 

คำตอบที่ดี น่าจะเป็นคำตอบที่ชัดเจนในสิ่งที่เราเป็น สิ่งที่เราอยากจะทำ โดยไม่จำเป็นต้องยิ่งใหญ่สวยหรู หรือดูเป็นคนเก่งเป๊ะสุดๆ และขอให้แสดงความตั้งใจจริง และมั่นใจที่จะเดินในทางที่เราตัดสินใจ เพราะการไปเรียนที่ญี่ปุ่นไม่ได้มีแต่ด้านสนุกอย่างเดียว ยังมีกำแพงภาษาและวัฒนธรรมที่สูงลิ่ว กับอุปสรรคอื่นๆที่เราจะต้องรับมือให้ได้ในอนาคตค่ะ

 

เป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ ถ้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมอะไร สอบถามได้ที่เพจ study kyoto นะคะ

Credit: Ross Parmly

 

(ประโยค: พสนันท์ เจริญกิจขจร, นักศึกษามหาวิทยาลัย Kyoto Institute of Technology)

 

STUDY KYOTO “About Scholarships” (Thai)

https://www.studykyoto.jp/th/study/scholarship/

STUDY KYOTO MAGAZINE “Scholarships in Japan: You can afford to study abroad!”(Thai)

https://www.studykyoto.jp/th/magazine/2016/07/01/scholarships-in-japan/

Japanese Government (MEXT) Scholarship (Japanese)

https://www.mext.go.jp/a_menu/koutou/ryugaku/06032818.htm

Study in Japan “Scholarships” (English)

https://www.studyinjapan.go.jp/en/planning/about-scholarship/

บทความยอดนิยมPopular Articles

Categoryหมวดหมู่

Popular Articles บทความยอดนิยม

Categoryหมวดหมู่